การให้เหตุผลที่ไม่ดีของจอมรู้ดี

Takla Nateeboon
2 min readApr 10, 2021

ในบทความก่อนหน้าได้เล่าถึงภาพกว้าง ๆ ของพฤติกรรมของประเภทบุคคลที่ผมเรียกว่าเป็น “จอมรู้ดี” จอมรู้ดีบงการใช้อำนาจผ่านการอ้าง “เหตุผล” มาควบคุมให้คุณอยู่ภายใต้พวกเขา ในหลาย ๆ ครั้งพวกเขาก็อ้างว่าพวกเขานั้นมีเหตุผล ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่พวกเขาทำนั้นเป็นการให้เหตุผลที่ผิด (เรียกว่า “ตรรกะวิบัติ” หรือ Fallacy) และสิ่งที่พวกเขาใช้ควบคุมหรือโน้มน้าวคุณไม่ใช่เหตุผล แต่ว่าเป็นอำนาจต่างหาก ตรรกะวิบัติที่จอมรู้ดีมักจะยกขึ้นมาก็มักจะไม่ต่างจากตรรกะวิบัติที่เราเจอได้บ่อย ๆ สักเท่าไหร่ แต่อาจจะจำเพาะลงมาในบริบทที่เป็นการตัดสินว่าคุณควรจะทำหรือไม่ทำอะไร

ตามลักษณะของการให้เหตุผลที่ผิด ตรรกะวิบัติมีอยู่สองกลุ่มคือ Formal fallacy และ informal fallacy อย่างแรก formal fallacy คือตรรกวิบัติที่เป็นการกล่าวอ้าง/เชื่อมโยงเหตุผลที่ผิด อย่างที่สอง informal fallacy คือ การยกเหตุ/ข้อสนับสนุนที่ไม่เป็นความจริง สำหรับใครที่เคยเรียนตรรกศาสตร์มา formal fallacy ก็คือการสร้างประโยคทางตรรกะศาสตร์ใหม่มาที่ไม่ได้สมมูลกับประโยคที่อ้าง เช่น เราอ้างว่า q, และ p→ q (ถ้าเกิด p แล้วจะต้องเกิด q ขึ้น) จริง แต่เรากลับไปสรุปว่าดังนั้น p ต้องจริงด้วย ในขณะที่ ตัวอย่างของการใช้ informal fallacy คือการอ้างว่า p และ p→ q จริง ดังนั้นต้องเกิด q โดยที่จริง ๆ แล้วประพจน์ p ไม่จริง formal fallacy จึงต่างจาก informal fallacy ตรงที่ตัว formal fallacy สามารถใช้ความรู้เรื่องตรรกศาสตร์ที่เรียนมาสมัยมัธยมสังเกตและจัดผิดได้เลย ในขณะที่ตัว informal fallacy จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ตัวประพจน์แต่ละตัวกล่าวถึง

กลับมาที่เรื่องการให้เหตุผลที่ผิดของเหล่าจอมรู้ดี เราอาจจะเคยถูกบอกว่าเราจำเป็นต้องตัดผมเกรียน แต่งชุดนร. หรือเรียนสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะ… เช่น เป็นเด็กเรียบร้อย ไม่มีงานทำ ไม่เรียบร้อย ไม่มีกาลเทศะ ไม่เคารพสถานที่ ในที่นี้ข้อสรุปของจอมรู้ดีพยายามจะบังคับเราก็คือ ควรทำ p เพราะว่าถ้าทำ p แล้วจะเกิด q หรือ ไม่ควรทำ p เพราะถ้าทำ p แล้วจะเกิด q ปัญหาคือ ในหลายกรณี p→ q ไม่จริง เช่น ถ้าไม่บังคับใส่ชุดนร. แล้วนร.จะแบ่งแยกระหว่างนร.รวยกับนร.จน, แข่งกันแต่งตัว, หรือไม่ตั้งใจเรียน ที่จอมรู้ดีมักจะอ้างเช่นนี้ก็เพราะว่าพวกเขาเห็นแต่ตัวอย่างที่ p ไม่จริง (ประเทศเรานั้นมีการบังคับเรื่องเครื่องแบบ) พอพวกเขาอยู่กับตัวอย่างที่เห็นว่า p ไม่จริงบ่อย ๆ ก็ทำให้พวกเขาไม่เคย disprove ตัวข้ออ้างของพวกเขาเองได้จากตัวอย่างที่เห็นเลย เพราะการอ้างตัวอย่างเพื่อ disprove ข้ออ้างนี้จำเป็นต้องหาตัวอย่างที่ p จริง แต่ q เป็นเท็จมา ทีนี้ก็อาจจะมีคนมาเถียงข้อเขียนนี้ของผมได้ว่าจริง ๆ แล้วข้อความ p ในหลาย ๆ ครั้งก็เป็นจริง อย่างเช่นเด็กนร.ที่ดื้อรั้นไม่ปฎิบัติตามกฎ (รวมถึงเรื่องการแต่งกาย) มักจะเรียนไม่จบ เป็นเด็กเกเร ติดเหล้า ติดยา หากเราพิจารณาให้ดีแล้วเราจะเห็นว่าสิ่งที่ตัวอย่างที่คนเหล่านี้อ้างมาเป็นตัวอย่างที่บอกแค่ว่า ∃นร.(อ่านว่า มีนร.ที่) นร.ทำ p และ นร.เป็น/ได้รับ q แต่ก็มีตัวอย่างตรงข้ามมากมายที่แสดงว่า ∃นร. นร.ทำ p และ นร.ไม่เป็น/ไม่ได้รับ q การสรุปจากตัวอย่างที่ว่า ∃นร( p∧q) → ∀นร (p(x)→ q(x)) จึงเป็นข้อสรุปที่ผิดพลาดและเป็นตรรกะวิบัติ

หากเราอยากจะใช้เหตุผลให้ดูลุ่มลึกมีความรู้และหลักการมากขึ้น การหาเหตุผลมาอ้างสนับสนุนการให้ทำ q อาจจะทำได้ผ่านการอ้างเหตุผลสนับสนุนประโยค p→ q อีกทีหนึ่ง แทนที่จะเป็นเพียงการหาตัวอย่างมาสนับสนุนมากขึ้น จอมรู้ดีเหล่านั้นก็อาจจะอ้างว่ามีสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่าง p→ q เค้าอาจจะกระจายเทอมนี้ออกเป็น (p→ r)∧(r→ q) อย่างไรก็ดีเราก็สามารถโต้แย้งได้เช่นเดิมว่า p→ r หรือ r→ q ไม่จริงด้วยวิธีแบบเดิม หรือแย่ยิ่งไปกว่านั้น พวกจอมรู้ดีมักจะอ้างว่า p→ q จาก (p→ r) ∧(q→ r) เช่นเขาอาจจะอ้างว่า พวกเธอไม่ตัดผมทรงนร. หมาก็ไม่ตัดผมทรงนร. ดังนั้น เธอก็เป็นหมาซึ่งเป็นการสรุปที่ผิดแบบ formal fallacy โดยสรุป ในหลายครั้งการอ้างเหตุผลแบบถ้าแล้วของจอมรู้ดียืนอยู่บนตัวอย่างที่ไม่ได้พิสูจน์ข้อความที่เขากล่าวอ้าง เราสามารถโต้แย้งด้วยการชี้ไปให้เห็นตัวอย่างค้านหรือพิสูจน์ว่าวิธีการยกหลักฐานมาสนับสนุนของเขานั่นผิดพลาด

ทีนี้เมื่อเรายกตัวอย่างค้านไป เราก็อาจจะโดนจอมรู้ดีโจมตีกลับมาว่าเรารู้ดีกว่าพวกเขาอย่างนั้นหรือถึงมาโต้แย้งกับพวกเขา คิดว่าตัวเองเก่งนักหรืออย่างไร (แน่นอน ผมตั้งชื่อพวกคนเหล่านั้นว่า “จอมรู้ดี” ก็เพราะอย่างนี้) ชั้นเป็น… ของเธอนะ (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ป้าข้างบ้าน ครู อาจารย์ ภารโรง ประธานบริษัท ครูฝึกรด ฯลฯ ที่น่าจะอ้างได้) ทำไมไม่รู้จักสัมมาคารวะ/ เคารพ/ ฟังผู้ใหญ่เลย ซึ่งเอาจริง ๆ ถึงตรงนี้การพิสูจน์ว่าใครเก่งกว่าใคร ใครรู้ดีกว่าใคร มีความเคารพกันหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกันสิ้นเชิงกับเรื่องก่อนหน้าแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกจอมรู้ดีเหล่านี้พยายามจะใช้อำนาจของตัวเองในการกดให้คุณยอม โดยไม่สนใจเหตุผลแล้ว เพจที่ผมแนะนำไว้ด้านล่างน่าจะพอช่วยให้คำแนะนำในเรื่องพวกนี้ได้

สุดท้ายนี้ คุณอาจจะยอมพวกผู้มีอำนาจจอมรู้ดีเหล่านี้ไปเพราะว่าพวกเขามีอำนาจมากกว่าคุณเสียเหลือเกิน การต่อสู้และลุกขึ้นยืนมีราคาที่ต้องจ่ายมากเกินไป แต่อย่างน้อยก็หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเห็นว่าสิ่งที่พวกเค้าอ้างว่าเป็นเหตุผล แท้จริงอำนาจที่จำกัดและกดทับตัวพวกคุณอยู่ ไม่ใช้เหตุผลอย่างที่เขาหลอกลวง

มีใครสักคนทำเพจในเฟสบุคเอาไว้เกี่ยวกับตรรกะวิบัติ ในเพจนี้แยกประเภทไว้หลากหลายกว่าที่ผมเขียนในนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/antifallacy/posts/1885446985015348

--

--

Takla Nateeboon

I'm studying mathematical physics. I write everything I'd like to Math, Science, History, Politics, Tech, Urban Planing, and Cooking. Enjoy!